08/09/65 ประชุม Strengthen and Expand Knowledge in Sustainable Aquaculture Production Practices

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2565 เวลา 06.30-08.30 น. ทางระบบการประชุม Zoom Online Meeting

สมาคมฯ โดย ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยนางสาวนารีรัตน์ จันทร์ทอง รองผู้อำนวยการสมาคมฯ และนายประมุข ตะเคียนคาม ผู้จัดการฝ่ายบริการข้อมูลวิชาการ เข้าร่วมการประชุมเชิงปฎิบัติการออนไลน์ ในหัวข้อ "Strengthen and Expand Knowledge in Sustainable Aquaculture Production Practices" ซึ่งจัดโดย ประเทศชิลี และหน่วยงาน Monterrey Bay Aquarium ภายใต้การสนับสนุนของ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) โดยมีสาระสำคัญจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ดังนี้

วัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมในครั้งนี้ เน้นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและถ่ายทอดแนวทางการจัดการที่ดีในระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ยาต้านจุลชีพ (Anti-Microbrial USE: AMU) ตลอดจนหารือแนวทางการลดความเสี่ยงของสารตกค้างในสิ่งแวดล้อมและการพบการดื้อของเชื้อจุลชีพที่มีต่อยาปฏิชีวนะ (Antimicrobial resistance: AMR) ในแหล่งน้ำ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร

จากการประชุม มีรายงานว่า จากที่ภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีการขยายตัวอย่างมาก เพื่อรองรับความต้องการบริโภคจากทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มการเพาะเลี้ยงปลาคาร์ป ปลานิล ปลาแซลมอน และกุ้ง ในหลายภูมิภาคเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีการใช้ยาต้านจุลชีพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสูงขึ้นด้วย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการตกค้างของยาต้านจุลชีพเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำด้วย หากมีการบริหารจัดการและควบคุบปริมาณการใช้ที่ไม่เหมาะสม

ที่ประชุมมีการยกตัวอย่างกรณีศึกษา จากหน่วยงาน Monterrey Bay Aquarium ซึ่งมีการจัดทำโครงการติดตามและควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพในการเพาะเลี้ยงปลาแซลมอนในประเทศชิลี ซึ่งบริษัทเอกชนที่ส่งออกปลาแซลมอนให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลการติดตามการใช้ยาต้านจุลชียอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า หลังจากที่อุตสาหกรรมปลาแซลมอนมีการเติบโตมากขึ้น ก็มีแนวโน้มการใช้ยาต้านจุลชีพในการเพาะเลี้ยงมากขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐของชิลีจึงได้มีการออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมและติดตามการใช้ยาต้านจุลชีพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำออกมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกำหนดปริมาณการใช้ การตรวจวิเคราะห์การตกค้าง รวมถึงการขึ้นทะเบียนยาต้านจุลชีพที่อนุญาตให้ใช้ รวมถึงการสร้างระบบการตรวจติดตามและการรายงานการใช้ยาต้านจุลชีพ

ที่ประชุมมีข้อเสนอในเรื่องของความแตกต่างระหว่างภาคการเพาะเลี้ยง และภาครัฐที่ควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพ ในแต่ละภูมิภาค จึงอาจส่งผลให้การสร้างระบบการควบคุมและติดตามการใช้ยาต้านจุลชีพ แตกต่างกันออกไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 ประเทศชิลีจะมีโครงการอบรมผู้เกี่ยวข้องในการเพาะเลี้ยงปลาแซลมอน เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้ยาต้านจุลชีพ ตลอดจนแนวทางการลดการใช้ยาดังกล่าวในการเพาะเลี้ยง ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างแนวทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีในอนาคต


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association