กิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชันประจำปี 2565 "ผู้นำ...กับการปราบโกง"

วันที่ 6 กันยายน 2565 เวลา 7.30 – 11.30 น. สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย โดย ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมฯ และนายกรวิชญ์ ทุมมานนท์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชันประจำปี 2565 "ผู้นำ...กับการปราบโกง" ผ่านระบบ Facebook Live ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งจัดขึ้นที่สถานีกลางบางซื่อ โดยได้รับเกียรติจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา, นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา, นางสาวเพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา จังหวัดลำปาง และนายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมเสวนาภายในงาน สรุปดังนี้

หลายๆ ครั้งปัญหาการทุจริตเกิดจากแผลเล็กๆ แล้วกลายเป็นบาดทะยัก แค่นโยบายไม่รับของขวัญก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเรารับของขวัญจนเราเคยชิน แค่นี้ก็จะกลายเป็นบาดทะยัก ถ้าเราเคยชินกับการให้ ผู้ค้าก็ต้องเอาของดีๆ มาให้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นหลายๆ อย่างเราต้องเลิกให้เป็นวัฒนธรรม จริงๆ การออกกฎระเบียบเพื่อแก้ไขการคอร์รัปชันก็ไม่ได้ง่าย แต่ถ้าสร้างจิตสำนึกได้ง่ายกว่าเยอะ

ผู้นำต้องเอาจริงเอาจัง 3 ด้าน คือ 1.ผู้นำ 2.เครือข่าย 3.เทคโนโลยี ผู้นำคือต้นตอของการต่อต้านคอร์รัปชัน อย่างเช่น กทม. เพียงแค่บอกว่าต้องส่งนาย นี่คือสิ่งที่คนพูดกันมาก ผู้นำต้องประกาศเลยว่า กทม. เอาจริงเอาจังเรื่องคอร์รัปชัน ไม่มีการส่งเป็นลำดับชั้น ต้องยกเลิกทั้งหมดไม่มีการอ้างเรื่องนาย ในขณะที่ผู้นำ มีอยู่ 3 แบบ 1.ผู้นำระดับ ศูนย์ คือผู้นำที่โกงกิน ร่วมขบวนการ ผู้นำเหล่านี้จะเริ่มตั้งแต่การซื้อตำแหน่ง เพราะต้องเอาคนที่ร่วมขบวนการมารับตำแหน่ง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระบบขององค์กรจะเสียหายเพราะฉะนั้น ผู้นำระดับ ศูนย์ ต้องไม่มี 2.ผู้นำระดับ 1 คือ ดีขึ้นมานิดนึง ตัวเองไม่โกง แต่ปล่อยให้คนอื่นหรือลูกน้องโกง แบบนี้ก็ไม่ได้ และ 3.ผู้นำระดับ 2 ต้องเอาจริงเอาจังและประกาศเป็นนโยบาย ดังนั้นผู้นำนั่นสำคัญ หากหัวไม่กระดิกที่เหลือจะดีขึ้นเยอะ

เรื่องที่ 2 การหาภาคีเครือข่ายคอร์รัปชันมาจากหลายมิติ เชื่อว่ามีเกลียว 4 เกลียวประสานกันเพื่อให้การต่อต้านเข้มแข็งขึ้น นั่นคือ ภาครัฐต้องเข้มแข็ง ภาคเอกชนมีส่วนอย่างมาก ภาคประชาชนมีส่วนร่วม และภาควิชาการ และเรื่องที่ 3 ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาทำให้มี Empower จากคน มีข้อมูลที่โปร่งใส การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นรูปธรรมขึ้น

แม้การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันจะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยิ่งพบว่าปัญหาเพิ่มความซับซ้อน มีการหาช่องว่าง ช่องโหว่ รวมทั้งนำเทคโนโลยีทันสมัยมาเอื้อต่อการคอร์รัปชันมากขึ้น รูปแบบการฮั้วประมูลประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) ที่คนโกงยังหาช่องทุจริตได้ หรือการจัดซื้อจัดจ้างในท้องถิ่นที่ยกข้ออ้างเรื่องนวัตกรรมมาเพิ่มราคากลางให้สูงขึ้น ดังนั้นประชาชนต้องสนับสนุนผู้นำที่โปร่งใสมุ่งประโยชน์ส่วนรวมและสนับสนุนการตรวจสอบจากภาคประชาชน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสใช้เครื่องมือที่ทันสมัยตรวจสอบการคอร์รัป

การนำระบบ AI มาสนับสนุนการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นนั้น เดิมการตรวจสอบข้อมูลเอกสารราชการทำได้ยากและยังไม่ปลอดภัยต่อตัวผู้ตรวจสอบ ส่งผลให้ประชาชนหลายคนไม่กล้าแสดงบทบาทนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันและพันธมิตรได้ออกแบบแพลตฟอร์ม ACT AI เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ง่ายและปลอดภัย เชื่อมโยงฐานข้อมูลภาครัฐ ที่ผ่านมาใช้ตรวจสอบการทุจริตเสาไฟกินรี โดยประชาชนและสื่อได้รับความสำเร็จมาแล้ว ทั้งนี้ หวังว่าประชาชนจะใช้ ACT AI เป็นอาวุธในการปราบโกง เพราะถ้าหากเราไม่ร่วมมือช่วยกันปราบโกงแล้ว จะยิ่งทำให้คอร์รัปชันเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศเพิ่มขึ้นตามมา

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าใช้งาน ACT AI ผ่านการกดเข้าใช้งานได้ที่ https://actal.co เพื่อเข้าถึงฐานข้อมูลในการตรวจสอบอย่างหลากหลาย ประกอบด้วย โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, ระบบจับโกงงบ COVID, โครงการ Build Better Lives by CoST, การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมือง การตรวจสอบงบท้องถิ่นกระดานวิเคราะห์ความเชื่อมโยงเครือข่ายการโกง (Corruption Analysis Dashboard), การตรวจสอบการใช้งบในโรงเรียนด้วย School Governance และยังรวมถึงแพลตฟอร์มที่ระดมไอเดียใหม่ ๆ จากโครงการ ACTKathon เช่น แจ้งเบาะแสเหตุสงสัยทุจริตคอร์รัปชันผ่าน LINE OA : จับตาไม่ให้ใครโกง Corruption Watch (@corruptionwatch) และ Voice of Change เครื่องมือรับแจ้งเบาะแสการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association