21 มิถุนายน 2565 การประชุมโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย (พ.ศ. 2566-2570)

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00-11.45 น. ทางระบบ Zoom Online Meeting


สมาคมฯ โดย ดร.ผณิศวร  ชำนาญเวช นายกสมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย (พ.ศ. 2566-2570) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้มอบหมายให้ บริษัทยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการจัดทำโครงการแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2565 สคทช. และบริษัทฯ ได้ปรับปรุงรายละเอียดและยกร่างแผนปฏิบัติการฯ เพื่อขอความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงได้มีการจัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น โดยมีประเด็นจากที่ประชุม ดังนี้


1 ร่างแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่


 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมความยั่งยืนของการจัดการที่ดินและระบบนิเวศ

 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างดุลยภาพของการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดินตามศักยภาพ

 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดิน

 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

 ยุทธศาสตร์ที่ 5 การบูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน


2 สาเหตุหลักที่มีการร่างแผนปฏิบัติการฯ  สคทช. ได้ศึกษาและมีข้อค้นพบว่า เกษตรกรและประชาชนที่ถือครองที่ดินส่วนใหญ่ยังประสบกับปัญหาความยากจน ซึ่งมาจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินยังไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร จึงควรมีการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น


3 ข้อคิดเห็นจากที่ประชุม

 ร่างแผนปฏิบัติการฯ ควรมีการปรับวิสัยทัศน์ และตัวชี้วัดในแต่ละยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนมากกว่านี้ เพื่อสามารถนำไปใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินการและติดตามความก้าวหน้าของแผนฯ ได้ รวมถึง สามารถนำไปใช้ในการกำหนดกิจกรรม ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนฯ ได้อย่างเหมาะสม


การเพิ่มอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากร่างแผนปฏิบัติการฯ ที่ประชุมมีความเห็นว่า เป็นการดำเนินการที่ดี เนื่องจากปัจจุบันอำนาจในการบริหารจัดการที่ดินยังอยู่ในการพิจารณาของหน่วยงานส่วนกลางเท่านั้น ส่งผลให้การดำเนินการบางส่วนเกิดความล่าช้า และทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ขอให้ระบุให้ชัดเจนว่า อปท. ควรมีอำนาจสั่งการ/พิจารณาในประเด็นใดได้บ้าง รวมถึงขอให้พิจารณาแนวทางบริหารจัดการงบประมาณของ อปท. เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดความซับซ้อนในการขอใช้งบประมาณด้วย


 การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในปัจจุบันพบปัญหาเยอะและใช้เวลาค่อนข้างมาก รวมถึงไม่ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ จึงควรให้ความสำคัญในประเด็นนี้มากยิ่งขึ้น


 ในการประชุมขอข้อคิดเห็นควรมีการลงพื้นที่กับ อปท. บางพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ดำเนินการจริง อันจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน และนำมาใช้ในการปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการฯ ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน


 ควรมีการนำหลักการของ BCG Model มาประยุกต์ใช้ในร่างแผนปฏิบัติการฯ ด้วย


 ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่ดิน ให้สอดคล้องกับประเด็นของความมั่นคงทางอาหาร 


ขอให้เพิ่มความสำคัญในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้กับเกษตรกร เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการที่ดินได้คุ้มค่ายิ่งขึ้นและลดปัญหาความยากจนของเกษตรกร


 ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ และฝ่ายเลขาฯ ได้รวบรวมข้อคิดเห็นจากที่ประชุม เพื่อปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการฯ  นอกจากนี้ จะมีการจัดการประชุมขอข้อคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการฯ อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยจะมีการส่งหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมต่อไป 


 หมายเหตุ : ท่านสามารถตอบแบบสอบถามเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและ

              ทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2570) ได้ที่ https://forms.gle/4zQBY2nPhFmkvABe7

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association