ประชุมกลุ่มย่อยเพื่อจัดทำร่างแผนพัฒนาด้านการประมงต่างประเทศของกรมประมง พ.ศ. 2566-2570 ครั้งที่ 2/2566

วันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2566 เวลา 09.00-14.30 น. ณ ห้องประชุมตะพัดทอง กองประมงต่างประเทศ กรมประมง

สมาคมฯ โดยคุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ อุปนายกสมาคมฯ พร้อมด้วยนายประมุข ตะเคียนคาม ผู้จัดการฝ่ายบริการข้อมูลวิชาการ เข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อจัดทำร่างแผนพัฒนาด้านการประมงต่างประเทศของกรมประมง พ.ศ.2566-2570 ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นายชลธิศักดิ์ ชาวปากน้ำ ผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศ เป็นประธานที่ประชุม มีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้

การประชุมในครั้งนี้จะพิจารณานโยบายด้านการพัฒนาประมงในน่านน้ำไทย และนโยบายด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง เพื่อนำข้อคิดเห็นจากที่ประชุมไปจัดทำร่างแผนพัฒนาด้านการประมงต่างประเทศของกรมประมง โดยมีข้อคิดเห็นจากการประชุม ดังนี้

1. นโยบายด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ประชุมเสนอให้

- เพิ่มเติมในส่วนของการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและ Start-up โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงของกรมประมง รวมถึงต่อยอดไปสู่การขอการรับรองมาตรฐานการเลี้ยงของต่างประเทศ อาทิ BAP, ASC เป็นต้น

- การพัฒนาระบบการซื้อขายสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โดยเรียนรู้จากระบบการซื้อขายสัตว์น้ำของต่างประเทศ

- การอัพเดทกฎระเบียบและมาตรฐานการเพาะเลี้ยงทั้งในและต่างประเทศให้เป็นปัจจุบัน

- การสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

- การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน รวมถึงเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ

- การวิจัยร่วมกับ FAO ในประเด็นด้าน Climate Change ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การพัฒนาสายพันธุ์, เทคโนโลยีการเลี้ยง เป็นต้น

- การจัดทำ Big Data สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลและระบบการแจ้งเตือน เรื่องระบาดวิทยาและการใช้ยาสัตว์

ในส่วนของสมาคมฯ ได้เสนอว่า ปัจจุบันวัตถุดิบจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การแข่งขันทางการตลาดของผู้ประกอบการน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แนวทางที่จะสามารถช่วยผู้ประกอบการได้ก็คือการผลักดันให้มีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศที่ได้มาตรฐาน เพื่อทดแทนวัตถุดิบที่ขาดแคลน นอกจากนี้ การลดอุปสรรคและระยะเวลาในการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำมาวิจัยเพิ่มเติมก็จะช่วยพัฒนาศักยภาพของภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ขอให้มีการสร้างระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสถานการณ์ตลอดทั้งห่วงโซที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการผลิตได้

2. นโยบายด้านการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทย ที่ประชุมเสนอให้

- มีการทำงานเชิงรุกในส่วนของประเด็นด้าน IUU Fishing รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งของระบบการตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงระเบียบต่างๆ ของต่างประเทศ อาทิ ระบบ IT Catch ของสหภาพยุโรป, ข้อกำหนด IUU ของญี่ปุ่น และระบบ SIMP ของสหรัฐฯ

- การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมตามเงื่อนไขของมาตรการ MMPA ของสหรัฐฯ โดยการทำงานร่วมกันระหว่างกรมประมงและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

- การสนับสนุนโครงการปรับปรุงการทำประมงอย่างยั่งยืน (Fishery Improvement Project : FIP)

- การจัดทำเอกสาร/รายงาน/ผลการวิจัยต่างๆ ของกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นฉบับภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์กับต่างประเทศ ผ่าน Website ของกรมประมง

ในส่วนของสมาคมฯ ได้เสนอว่า สมาคมฯ ได้มีการพัฒนาเวปไซต์ของสมาคมฯ ให้ทันสมัย ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและมีหลายหัวข้อที่มีความน่าสนใจ โดยจัดทำเนื้อหาเป็นสองภาษา ซึ่งกรมประมงได้เสนอให้เพิ่มเวปไซต์ของสมาคมฯ ลงในเวปไซต์ของกรมประมงเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ให้กับต่างประเทศ


ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาฯ ได้รวบรวมข้อคิดเห็นจากที่ประชุม แล้วจะนำไปจัดทำ SWOT Analysis ผ่านการจัดการประชุมภายในกรมประมง และคาดว่า ร่างแรกของแผนพัฒนาฯ จะจัดทำแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2566 ก่อนเวียนให้กับผู้เกียวข้องและจัดการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแผนพัฒนาฯ ต่อไป


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association