01/11/65 งานแถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนกันยายน ประจำเดือน ตุลาคม 2565

เมื่อวันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.30-12.00 น. ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคม มอบหมาย คุณกรวิชญ์ ทุมมานนท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ เข้าร่วม งานแถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนกันยายน ประจำเดือน ตุลาคม 2565 ผ่านระบบ Google Hangouts Meet มีสาระสำคัญ ดังนี้



คุณชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แจ้งที่ประชุมว่า ในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 สรท. จะมีพิธีเปิดศูนย์ระงับข้อพิพาทด้านโลจิสติกส์ โดยรายละเอียดจะแจ้งให้ผู้ประกอบการได้ทราบอีกครั้ง

ในด้านสภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.ย. 65 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,919.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 7.8% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 888,371 ล้านบาท ขยายตัว 16.4% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือน ก.ย. ขยายตัว 9.0%)
ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,772.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 15.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 929,732 ล้านบาท ขยายตัว 24.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือน ก.ย. 65 ขาดดุลเท่ากับ 853.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเท่ากับ 41,361 ล้านบาท

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ม.ค.-ก.ย. ของปี 65 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 221,366 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,523,817 ล้านบาท ขยายตัว 21.3% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงม.ค.-ก.ย. ขยายตัว 8.6%)

สำหรับการนำเข้ามีมูลค่า 236,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 20.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,148,602 ล้านบาท ขยายตัว 32.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนม.ค.-ก.ย. ของปี 65 ขาดดุลเท่ากับ 14,984.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 624,785 ล้านบาท

การส่งออกในปีหน้ายังน่าเป็นกังวล เพราะการส่งออกในปีนี้ปริมาณไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ราคาวัตถุดิบและราคาขายส่งเพิ่ม จึงเพิ่มราคาต่อหน่วย รวมๆ มองดูแล้วเศรษฐกิจของตลาดหลักยังชะลอตัว ซึ่งจะเห็นได้ชัดในไตรมาส 4 ของปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร จึงประมาณการณ์ส่งออกปี 2566 เบื้องต้นไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้นที่ 2-5% ก่อน จากการคำนวณรายสินค้า

ขณะที่ทั้งปี 2565 คาดการส่งออกจะเติบโตระหว่าง 8% ถึง 9% ได้ หากไตรมาส 4 ปีนี้การส่งออกยังมีทิศทางที่เติบโตได้ต่อเนื่อง โดยยังไม่มีปัจจัยเสริมให้เพิ่มการส่งออกให้ได้ถึง 10% อย่างไรก็ตามหากต้องการให้การส่งออกขยับไปถึงถึง 10% ต้องอาศัยการเติบโตด้านเศรษฐกิจและการส่งออกมากกว่าปัจจุลัน ประธานกลุ่มสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งมองวา่าเป็นไปได้ยาก

ปัจจัยหนุนที่สำคัญของปี 2565 คือ

1. ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) สูงได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง

2. สถานการณ์วิกฤตอาหารทั่วโลก ส่งผลให้สินค้าไก่ (แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป) และอาหารกระป๋องแปรรูปของไทย ส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงสินค้าข้าวด้วย



ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2565 ได้แก่

1. สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าสำคัญ มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้อุปสงค์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากเงินทุนที่มีแนวโน้มจะเคลื่อนย้ายไหลเข้าสหรัฐฯ เนื่องจากดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น

2. ดัชนีภาคการผลิต หรือ Manufacturing PMI ในประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน และเกาหลีใต้ เริ่มส่งสัญญาหดตัวลดลงเล็กน้อยในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.

3. ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากโอเปกพลัส (OPEC+) เล็งปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือน ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

4. ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน ปุ๋ย เป็นต้น

5. สถานการณ์การขาดแคลนชิปเริ่มคลี่คลายในช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในภาคการผลิตที่มีชิปเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ฯลฯ ประกอบกับกฎหมาย CHIPS and Science Act of 2022 ของสหรัฐฯ กดดันจีนต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในอนาคต

สถานการณ์ค่าระวางเรือ

จากข้อมูล Shanghai Containerized Freight Index (SCH) เปรียบเทียบอัตราค่าระวางระหว่างช่วงเดือนตุลาคม พบว่า ค่าระวางปรับลงในหลายเส้นทาง โดยเส้นทางที่ค่าระวางปรับลดลง ได้แก่ เส้นทางยุโรป เส้นทางเมดิเตอร์เรเนียน เส้นทางอเมริกาฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก เส้นทางออสเตรเรีย เส้นทางแอฟริกาฝั่งตะวันตกและตะวันออก เส้นทางแอฟริกาใต้ รวมถึงเส้นทางญี่ปุ่นฝั่งตะวันออก แสะเส้นทางเกาหลี ส่วนเส้นทางที่ค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น ไต้แก่ เส้นทางดูไบ เส้นทางอเมริกาใต้ เส้นทางญี่ปุ่นฝั่งตะวันตก และเส้นทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อเสนอแนะของ สรท.

1. เร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สำคัญ อาทิ Thai-EU, Thai - UK และตลาดรองอื่น เพื่อเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันภาคส่งออกและดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศในระยะยาว

2. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อประคองการฟื้นตัวภาคธุรกิจและไม่เป็นการช้ำเติมรายจ่ายของผู้บริโภคและต้นทุนของผู้ประกอบการมากเกินไป

3. ขอให้เร่งแก้ไขปัญหากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายลำ (Transshipment) รวมถึงเร่งทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ชัดเจน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรับส่งสินค้าของอาเซียน (ASEAN Logistic Hub) เพื่อดึงดูดเรือแม่เข้ามาให้บริการแบบ Direct Call มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าระวางเรือให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งชันกับคู่แข่งในต่างประเทศ

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association