การประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ครั้งที่ 2/2567

วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00-12.30 น. ณ ห้องประชุมกุลาดำ กรมประมง และทางระบบ Zoom Online Meeting

สมาคมฯ โดย คุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ, ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมฯ, คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคมฯ, คุณประเสริฐ นิมิตรชัย อุปนายกสมาคมฯ, คุณวิเชียร จันทะยาสาคร อุปนายกสมาคมฯ, คุณชูพงษ์ ลือสุขประเสริฐ เลขาธิการสมาคมฯ, คุณธนรัช ธนาชีวิต กรรมการสมาคมฯ พร้อมด้วย คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผู้อำนวยการสมาคมฯ เข้าร่วมการประชุม คณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ครั้งที่ 2/2567 โดยมี คุณบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานที่ประชุม โดยมีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้

1. ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567

2. ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ในประเด็นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าประมงตกต่ำ โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าสัตว์น้ำดังกล่าว แต่การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมฯ ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการประมงและความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ของไทย จึงมอบหมายให้กรมประมงพิจารณาอัตราจัดเก็บที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมฝ่ายเอกชนได้ชี้แจงว่า ในรอบการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งก่อน กรมประมงเสนอประเด็นนี้เป็นวาระเพื่อทราบ ซึ่งที่ประชุมก็ได้เสนอให้กรมประมงทำรายละเอียดอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมให้ชัดเจน และที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ จะเป็นการหารือเป็นรายชนิดสัตว์น้ำที่พบปัญหาด้านราคาร่วมกับชาวประมง เพื่อให้ผู้ประกอบการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำร่วมกัน

ในส่วนของคุณอนุชา ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ควรให้ความสำคัญกับปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำเป็นรายชนิดที่พบปัญหา การนำเรื่องโรคระบาดสัตว์มาเป็นเหตุผลในการเก็บค่าธรรมเนียมอาจไม่สามารถตอบวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการฯ ได้ และกรมประมงควรจัดทำข้อมูลทั้งการบริโภคในประเทศ ผลผลิตในประเทศ และการนำเข้า เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการใช้วัตถุดิบจากในประเทศอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงต้องให้ความระมัดระวังในการพิจารณาแนวทางการนำเข้าเป็นพิเศษด้วย

ผู้แทนจากสมาคมประมงแห่งประเทศไทยได้ชี้แจงว่า มาตรการที่กรมประมงเสนอในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2567 อาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงประเด็นและไม่ตอบสนองหน้าที่ของคณะกรรมการฯ จึงเสนอให้กรมประมงกำหนดแนวทางการตรวจสอบการนำเข้าสินค้า เพื่อให้ระบบ Traceability มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และไม่ให้การนำเข้าสินค้าประมงที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกกฎหมายทะลักเข้ามาและส่งผลกระทบต่อราคาสัตว์น้ำในประเทศ โดยอาจต้องมีการกำหนดมาตรการสินค้าประมงนำเข้าให้เทียบเท่ากับมาตรการในประเทศ (ตามมาตรา 92 ของ พรก.ประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และหากจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมฯ กรมประมงก็ควรจะเก็บในอัตราที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาฯ ได้เสนอในที่ประชุมว่า รับข้อเสนอจากที่ประชุมและจะนำไปจัดทำเป็นกลยุทธ์ควบคุมการนำเข้าตามขอบข่ายของระเบียบหรือกฎหมายที่กรมประมงสามารถดำเนินการได้ก่อน และจะมานำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งต่อไป

3. ที่ประชุมพิจารณาอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราอาณาจักรตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 โดยกรมประมงได้นำเสนอแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการควบคุม เฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดในสัตว์น้ำ รวมถึงยกระดับการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาอัตราค่าธรรมเนียม ได้แก่ ความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดสัตว์น้ำ (ตามความเสี่ยงของโรคระบาดสัตว์น้ำต่ำ - เสี่ยงสูงมาก) และต้นทุนค่าใช้จ่ายของกรมประมง อาทิ เงินเดือนบุคลากร การบำรุงรักษาระบบอิเล็คทรอนิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมประมงได้เสนออัตราค่าธรรมเนียมที่จะจัดเก็บการนำเข้าสัตว์น้ำ (ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาคมฯ) ดังนี้

- หอยฝาเดียว 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม

- กั้ง 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม

- ปลาทูน่า 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม

- ปลา 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม

- ปลาหมึก 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม

- หอยสองฝา 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม

- กุ้งก้ามกราม ปลากะพงขาว ปลาเก๋า และกุ้งทะเล 3 ชนิด 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ ดร.อดิศร พร้อมเทพ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้เสนอว่า กรมประมงควรจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายของกรมประมงให้ชัดเจน โดยอาจจะนำข้อมูลงบประมาณจากปีที่ผ่านมามาใช้ในการเปรียบเทียบ เพื่อให้เห็นส่วนต่างที่เกิดขึ้น และสามารถคำนวณอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมได้ และควรพิจารณาตามความเสี่ยงของกลุ่มสัตว์น้ำ

ที่ประชุมมองว่า อัตราการเก็บค่าธรรมเนียมที่กรมประมงนำเสนอสูงเกินไปและอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมงในภาพรวมได้ ทั้งนี้ หากสินค้าประมงใดมีปัญหาก็สามารถทำข้อมูลและนำมาเสนอกับฝ่ายเอกชนเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยได้เสนอว่า ไม่ขัดหากต้องมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่กรมประมงเสนอสูงเกินไป โดยสมาคมฯ เสนอว่า อาจเก็บค่าธรรมเนียมได้ที่ 1-5 สตางค์ต่อกิโลกรัมสำหรับทูน่า
คุณอนุชา เสนอที่ประชุมว่า ในส่วนของสมาคมฯ มีการนำเข้าสินค้าประมง (ปลาหมึก ปลา และกุ้ง) รวม 1.7 ล้านตัน หากต้องเก็บค่าธรรมเนียมที่ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม จะคิดเป็นมูลค่า 847 ล้านบาท ซึ่งการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบันและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จึงไม่เห็นด้วยกับการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวนี้

คุณธนรัช ได้เสนอที่ประชุมเพิ่มเติมว่า การนำเข้าของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพื่อการแปรรูปและส่งออก จึงควรพิจารณาแยกส่วนการเก็บค่าธรรมเนียมให้ชัดเจน ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอาจไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น หากต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมจริงๆ ก็ยอมรับได้ที่ 1-5 สตางค์ต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ขอให้พิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและการแข่งขันทางการค้าของผู้ส่งออกด้วย

คุณชูพงษ์ ได้เสนอที่ประชุมเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการนำเข้ากุ้งมีตัวเลขการนำเข้าไม่มากนัก โดยขอให้กรมประมงพิจารณาชนิดของกุ้งที่นำเข้าด้วย โดยนอกจากการนำเข้ากุ้งขาวแวนาไมมาผลิตเพื่อการส่งออกแล้ว ยังมีการนำเข้ากุ้งน้ำเย็นจากอาร์เจนติน่ามาเพื่อแปรรูปและส่งออกด้วย โดยหากมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในกุ้งน้ำเย็น อาจกระทบกับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาฯ ได้รับข้อเสนอจากที่ประชุม และจะจัดทำข้อมูลการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งต่อไป โดยจะใช้แนวทางตามที่สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยเสนอ (หารือเป็นรายสินค้าที่พบปัญหา) และจะมีการจัดการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2567 ในวันที่ 7 มีนาคม 2567


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association