เจาะลึกความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรป
วันที่ 29 สิงหาคม 2567คุณบุญเลิศ ฝูงวรรณลักษณ์ นายทะเบียนสมาคมฯ และคุณกรวิชญ์ ทุมมานนท์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมงานจัดอบรมทางวิชาการประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ "เจาะลึกความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรป" จัดโดยศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพฯ สรุปดังนี้
กระบวนการตัดสินใจของสหภาพยุโรป (EU) ประกอบด้วยสถาบันหลัก 3 แห่ง
1. คณะกรรมาธิการยุโรป เสนอร่างกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ร่วมของ EU
2. สภายุโรป ตัวแทนรัฐบาลประเทศสมาชิก เจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ประเทศ
3. รัฐสภายุโรป ตัวแทนประชาชน ตรวจสอบและอนุมัติกฎหมาย
กระบวนการโดยทั่วไป คณะกรรมาธิการเสนอร่าง → สภาและรัฐสภาพิจารณาแก้ไข → ลงมติบังคับใช้
การตัดสินใจใน EU เป็นการทำงานร่วมกันของสถาบันต่างๆ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ระดับชาติและระดับสหภาพ
โครงสร้างคณะกรรมาธิการยุโรป แบ่งเป็น 2 ระดับ
1. ระดับการเมือง ประธานกำหนดนโยบายรวม รองประธานช่วยประธานรับผิดชอบนโยบายเฉพาะด้าน และคณะกรรมาธิการเป็นตัวแทนประเทศสมาชิก ดูแลนโยบายเฉพาะ
2. ระดับบริหาร กรมต่างๆ ปฏิบัติงานตามนโยบาย
EU มีสถาบันหลัก 7 แห่ง ทำงานร่วมกันในการกำหนดนโยบายและกฎหมาย ดังนี้
• สภายุโรป ตัดสินใจระดับสูง กำหนดทิศทาง EU
• คณะกรรมาธิการยุโรป เสนอกฎหมายและนโยบายใหม่
• สภาแห่งสหภาพยุโรป ตัวแทนรัฐบาล เจรจากฎหมาย
• รัฐสภายุโรป ตัวแทนประชาชน ร่วมออกกฎหมาย
• ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ตีความและบังคับใช้กฎหมาย
• ธนาคารกลางยุโรป กำหนดนโยบายการเงิน
• ศาลตรวจสอบบัญชี ตรวจสอบการใช้งบประมาณ
ขั้นตอนกระบวนการตัดสินใจ คณะกรรมาธิการเสนอ → สภาและรัฐสภาพิจารณา → สภายุโรปอนุมัติ → ศาลยุติธรรมตีความและบังคับใช้
ขอบเขตอำนาจของ EU
1. ตลาดภายใน เปิดเสรี นโยบายร่วมด้านการค้า แข่งขัน เกษตร ขนส่ง
2. สกุลเงินยูโร ลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจ
3. กฎหมายสหพันธ์ บังคับใช้โดยตรงในประเทศสมาชิก
4. ประสานนโยบาย เศรษฐกิจ การจ้างงาน สังคม
5. สนับสนุน วิจัย การศึกษา สิ่งแวดล้อม
6. จัดการวิกฤต ภายในและภายนอก EU
7. นโยบายต่างประเทศ ร่วมกันระหว่าง EU และประเทศสมาชิก
ทำไมเอเชียจึงสำคัญต่อ EU
เอเชียเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังเติบโต คำว่า "ศตวรรษแห่งเอเชีย" สะท้อนถึงการเคลื่อนย้ายอำนาจทางเศรษฐกิจจาก EU และอเมริกาสู่เอเชีย อีกทั้งเอเชียยังมีบทบาทสำคัญในประเด็นระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการค้า พลังงาน ความมั่นคงทางไซเบอร์ การย้ายถิ่นฐาน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ EU จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับประเทศในเอเชียเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
EU ไม่สามารถมองข้ามเอเชียได้ การที่ EU มีส่วนร่วมในเอเชียจะนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจและความท้าทายจากการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ EU จึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วมเอเชียอย่างจริงจัง
ความพยายามของ EU ในการมีส่วนร่วมกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย มีวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและความร่วมมือในหลายด้าน ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ทวิภาคี EU มีความสัมพันธ์ทวิภาคีกับทั้งประเทศคู่ค้าสำคัญและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
2. ความสัมพันธ์พหุภาคี EU มีส่วนร่วมในเวทีระดับภูมิภาค เช่น การประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป (ASEM) และสนับสนุนสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) เพื่อมุ่งสู่การเป็นสมาชิกการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS)
3. ความสัมพันธ์กับอาเซียนและจีน EU ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียน และยังมีความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์กับจีน
4. ความร่วมมือที่หลากหลาย นอกเหนือจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจแล้ว EU ยังมุ่งเน้นความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสำคัญระดับโลก เช่น พลังงาน การขนส่ง ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ การไม่แพร่ขยายอาวุธ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การอพยพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความสัมพันธ์ระหว่าง EU และ ASEAN
ทั้ง 2 องค์กรได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น "พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์" ในปี 2020 ซึ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆ มากขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่าง EU และอาเซียนเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1977 และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 2 องค์กรยึดมั่นในหลักการเดียวกัน เช่น ระบบระหว่างประเทศที่อยู่บนพื้นฐานกฎหมาย การพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ การค้าเสรี และความยุติธรรม โดยมีความร่วมมือครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การศึกษา การวิจัย และความมั่นคง ความสัมพันธ์นี้ส่งผลดีต่อประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย เช่น การเพิ่มขึ้นของการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
เหตุผลที่ EU และอาเซียนต้องการเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์
ทั้ง 2 องค์กรมีความรับผิดชอบร่วมกันในการรักษาสภาพแวดล้อมและส่งเสริมความยั่งยืน มีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างทั้ง 2 ภูมิภาค และมีการค้าขายระหว่างกันในมูลค่าสูง มีการร่วมมือกันด้านความมั่นคงช่วยรับมือกับภัยคุกคามร่วมกัน เช่น การก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ
ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยมุ่งเน้นการสร้างระเบียบโลกแบบพหุภาคีที่อยู่บนพื้นฐานกฎหมาย การค้าเสรี และความเชื่อมโยง อีกทั้งไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของ EU ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับ EU ในหลายด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยไทยและ EU มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมมือกันในประเด็นระดับโลกอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน
กระบวนการเจรจา FTA ของ EU เป็นกระบวนการที่มีหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมและมีความซับซ้อนสูง เพื่อให้มั่นใจว่าข้อตกลงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศสมาชิกทั้งหมด และได้สร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่มั่นคงกับประเทศคู่ค้า กระบวนการนี้ไม่เพียงแค่รวมถึงการเจรจาต่อรอง แต่ยังต้องผ่านขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับทั้งองค์กรต่างๆ ภายใน EU และประเทศสมาชิกอย่างรอบคอบ
European Commission เป็นแกนหลักที่มีหน้าที่เริ่มต้นและดำเนินการเจรจา FTA ซึ่งได้รับการมอบอำนาจจาก European Council หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการจะต้องแจ้งและปรึกษาหารือกับ European Parliament อย่างต่อเนื่อง
กระบวนการเจรจา FTA เริ่มต้นจากการที่ EU มอบอำนาจให้คณะกรรมาธิการยุโรปเริ่มเจรจากับประเทศคู่ค้า คณะกรรมาธิการจะแจ้งให้สภาและรัฐสภายุโรปทราบเกี่ยวกับกระบวนการเจรจา จากนั้นทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันปรึกษาหารือ ตกลงร่างข้อตกลงเบื้องต้น และทำการตรวจสอบทางกฎหมายและภาษา ร่างข้อตกลงจะถูกนำเสนอให้สภาและรัฐสภาพิจารณาอนุมัติ ซึ่งในบางกรณีอาจต้องได้รับการให้สัตยาบันจากรัฐสมาชิกด้วย
การเจรจา FTA Thai-EU เริ่มต้นครั้งแรกในปี 2013 และได้เริ่มต้นใหม่ในปี 2023 โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างข้อตกลงที่ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษี การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎระเบียบด้านต่างๆ
หาก FTA นี้ประสบความสำเร็จ จะมีประโยชน์มากมายสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย สำหรับประเทศไทย ข้อตกลงนี้จะเปิดโอกาสให้สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผลไม้ และอาหารทะเล ได้รับการลดภาษีศุลกากร ทำให้ส่งออกไปยัง EU ได้ง่ายขึ้น และสินค้าของไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยสามารถลงทุนและให้บริการในยุโรปได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ข้อตกลงนี้ยังช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตของไทย รวมถึงการปรับปรุงมาตรฐานสุขอนามัยพืชและมาตรฐานทางเทคนิคให้เข้ากันกับ EU ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารของทั้ง 2 ฝ่ายมีความปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อตกลงนี้จะมีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อบางภาคส่วนของประเทศไทย เช่น เกษตรกรรายย่อย ที่อาจต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานที่สูงขึ้น