ประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหา การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ในกลุ่มสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ครั้งที่ 1/2566

วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2566 เวลา 09.30-12.00 น. มีการจัดประชุม "คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหา การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ในกลุ่มสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ครั้งที่ 1/2566" มีผู้แทนสมาคมฯ คือ คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคมฯ คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผอ.สมาคมฯ และคุณนารีรัตน์ จันทร์ทอง รองผอ.สมาคมฯ โดยประธานที่ประชุม คุณนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการฯ มีรายละเอียด ดังนี้

เนื่องจากสินค้าของประเทศไทยถูกสหรัฐฯ จัดให้อยู่ในบัญชีรายการสินค้าที่มีเหตุเชื่อว่ามีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ (List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor: TVPRA List) และบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานเด็กขัดหนี้ (List of Products Produced by Forced or Indentured Child Labor: E.O. List) ส่งผลให้สินค้าดังกล่าวถูกจับตาจากต่างประเทศในประเด็นปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ อันจะนำไปสู่การเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า หรือการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าได้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ในกลุ่มสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม

สรุปสาระสำคัญ

1. ฝ่ายเลขาฯ รายงานกิจกรรมด้านแรงงานที่ผ่านมาในปี 2566 คือ

ผลการดำเนินการกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมกิจกรรมจัดบูธในงาน คือ บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด, สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย, วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์, มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก, กรมกิจการเด็กและเยาวชน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

การดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม โดยการลงพื้นที่จังหวัดเลย และหนองบัวลำภูเข้าเยี่ยมโรงงานผลิตน้ำตาล สมาคมชาวไร่อ้อย และสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย จังหวัดเลย

ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสุรินทร์ เข้าเยี่ยมสมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย

ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เข้าเยี่ยมสมาชิกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยและสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย

หารือและเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของไทยฯ ร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ โดยในรายงาน TDA Report ประจำปี 2564 ระบุข้อแนะนำให้ประเทศไทยดำเนินการ

ให้มีกฎหมายห้ามไม่ให้มีการเกณฑ์เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าร่วมกลุ่มติดอาวุธไร้รัฐ ซึ่งสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าแม้ประเทศไทยจะไม่มีกลุ่มติดอาวุธไร้รัฐและมีกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้มีการร่วมกลุ่มติดอาวุธไร้รัฐอยู่แล้ว แต่ควรจะมีกฎหมายบัญญัติโทษความผิดกรณีที่มีการเกณฑ์เด็กเข้าร่วมกลุ่มติดอาวุธไร้รัฐขึ้นเป็นการเฉพาะด้วย

ให้ประเทศไทยมีการกำหนดเรื่องอายุขั้นต่ำในการทำงานยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยสหรัฐฯ เข้าใมจว่าการกำหนดอายุขั้นต่ำในการทำงานคือ 15 ปี ยังไม่ครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบ และแรงงานอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไทยไม่ได้รับการประเมินในระดับความก้าวหน้าอย่างมากในการขจัดแรงงานเด็ก ซึ่งทางกระทรวงแรงงานได้ชี้แจงว่าไทยมีการดำเนินการดังกล่าว โดยครอบคลุมแรงงานนอกระบบคือ แรงงานเกษตรและผู้รับงานไปทำที่บ้านแล้วแต่ในกรณีแรงงานอิสระซึ่งไม่ให้การจ้างแรงงาน มีพรบ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่อยู่ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กำหนดไม่ให้เด็กทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตหรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก และมีอยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) พรบ. คุ้มครองแรงงานอิสระ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา

ควรมีการพิจารณาข้อมูลให้เผยแพร่ต่อสาธารณและสืบค้นได้ทั่วไป ในเรื่องของแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ และในการที่จะได้ข้อมูลที่มีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ ต้องมีหน่วยงานหลายหน่วยงานเข้าร่วมด้วย เพื่อนำไปสู่การพิจารณาให้ได้รับการประเมินในระดับที่สามารถพิจารณาถอดถอนสินค้าได้ เช่น โครงการสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทย พ.ศ. 2561 ที่กรมสวัสดิฯ ได้ร่วมดำเนินการกับสำนักงานสถิติแห่งชาติและ ILO

2. การจัดทำรายงานสถานการณ์แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ในกลุ่มสินน้าปคะเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่มของประเทศไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2565-2566 เสนอกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ โดยมีประเด็นใน 3 หัวข้อ คือ ความแพร่หลายของแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ , การมีระบบหรือมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ, ความเป็นอิสระในการตรวจสอบยืนยัน

ที่ประชุมได้มีการหารือ และเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ เช่น

ควรมีนำเสนอโครงการวิจัยต่างๆ ในเรื่องแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ หรือสถิติที่เก็บรวบรวมต่างๆ

มีการนำเสนอกิจกรรมที่มีการร่วมมือกันในหลายภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อให้ข้อมูลนั้นได้รับความน่าเชื่อถือ

จัดตั้ง Focus Group โดยมีกรมสวัสดิการฯ และกรมอเมริกา และหน่วยงาน 3 กระทรวง คือกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อทำการศึกษาวิเคราะห์ในข้อมูลการนำเสนอของประเทศที่ได้มีสินค้าหลุดจากรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ แล้ว เช่น ปานามา อุซเบกิสถาน บราซิล


ฝ่ายเลขาจะส่งหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งข้อมูลเพื่อใช้ประกอบในรายงานการดำเนินการของประเทศไทย ใน 4 กิจการ คือ กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม โดยขอให้ส่งภายในเดือนตุลาคม 2566 และในเดือนพฤศจิกายน 2566 จะมีการเชิญคณะอนุกรรมการฯ มาร่วมประชุมอีกครั้ง เพื่อพิจารณา (ร่าง) รายงานและแก้ไข (ร่าง) รายงานเพิ่มเติม โดยรายงานฉบับนี้จะต้องส่งให้กับกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ภายในเดือนมกราคม 2567

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association