7 มิถุนายน 2565 งาน “แถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนเมษายน ประจำเดือน พฤษภาคม 2565”

งาน “แถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนเมษายน ประจำเดือน พฤษภาคม 2565”


เนื้อหา


วันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2565 เวลา 10.30-12.00 น. สรุปสาระสำคัญการ เข้าร่วมงาน “แถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนเมษายน ประจำเดือน พฤษภาคม 2565” จัดโดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ผ่านระบบ Google Hangouts Meet สรุปสาระสำคัญ ดังนี้


การส่งออกไทยเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่า 23,521.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.9% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนเมษายน 2565 ขยายตัว 6.9% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,429.8 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 21.5% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนเมษายน 2565 ขาดดุลเท่ากับ 1,908.4 ล้านดอลลาร์ หรือ 74,107 ล้านบาท


การส่งออกเดือน ม.ค. – เม.ย. 2565 มีมูลค่า 97,122.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.7% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธ การส่งออกขยายตัว 8.2% การนำเข้ามีมูลค่า 99,975.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 19.2% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทย 4 เดือนแรก ขาดดุล 2,852.4 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 139,316 ล้านบาท


สรท. ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2565 เป็น 5-8% จากเดิมคาดว่าทั้งปีจะเติบโต 5% ถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยอีก 8 เดือนข้างหน้า (พ.ค.-ธ.ค.65) จะต้องมีการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,446 ล้านดอลลาร์ หากจะให้การส่งออกเติบโตได้ 5% ซึ่งจะทำให้การส่งออกมีมูลค่ารวมทั้งปี 284,797 ล้านดอลลาร์ แต่หากต้องการให้ขยายตัวได้ 8% ต้องมีการส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 24,802 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งปีเพิ่มเป็น 292,934 ล้านดอลลาร์ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องตามด้วยปัจจัยที่ราคาพลังงานไม่สูงเกิน 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยอยู่ในกรอบ 100-115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ค่าขนส่งไม่ผันผวน


โดยมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐ อาเซียน เติบโตต่อต่อเนื่องประกอบกับมีอุปสงค์ทรงตัวในระดับสูง ขณะที่จีนเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในบางพื้นที่สำคัญแล้วและดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลกหรือ PMI ของประเทศคู่ค่าสำคัญที่ยังทรงตัวอยู่เหนือเส้นBaseline ระหว่าง 50-60 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลก


ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2565 ได้แก่


1. ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้า และต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก 


2. สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่เพิ่มขึ้นเป็น 9.2% ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคทั่วโลกหดตัวลง


3. สถานการณ์ระวางเรือยังคงตึงตัวในหลายเส้นทางและค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากเรือแม่ยังไม่สามารถเข้าเทียบท่าในไทยได้มากขึ้น ขณะที่แม้ค่าระวางเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง แต่พบว่าค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ยังคงมีการปรับขึ้นและผันผวนตามราคาน้ำมันในตลาดโลก


4. ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, ธัญพืช, อาหารสัตว์ และปุ๋ย ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มออกมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร


5. การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรพิจารณาให้เหมาะสมตามความสามารถ


ข้อเสนอแนะของ สรท. 


1) ขอให้ ธปท. รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ไม่ให้แข็งค่าเกินกว่า 33–34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนอื่นที่ผันผวนสูง และขอให้ กนง. คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อประคองให้การฟื้นตัวภาคธุรกิจยังคงดำเนินการได้


2) รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ผ่านเครื่องมือด้านการลดภาษีสรรพาสามิตและเงินกองทุนน้ำมัน หรือกลไกในการควบคุมต้นทุนการนำเข้าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากจนเกินไป


3) การควบคุมราคาสินค้าในประเทศจำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับต้นทุนผู้ประกอบการ เพื่อมิให้เป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการมากเกินไป ขอให้พิจารณาลดต้นทุนสินค้าขาเข้า ลดเงื่อนไขและขั้นตอนในกลุ่มสินค้าที่ขาดแคลนและจำเป็น


4) การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการติดตามแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน


ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันผลักดันการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดย สรท. จะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมสมองจากทุกภาคส่วนในวันที่ 23 มิ.ย.65 หลังจากนั้นเดือน ก.ค.65 จะจัดทำเป็นสมุดปกขาวเพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน



Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association